รู้ไว้ก่อนใช้ ทำไมถังดับเพลิงมีหลายประเภท
ถังดับเพลิงเป็นอุปกรณ์ดับเพลิงขนาดเล็ก ใช้สำหรับดับเพลิงไหม้เล็กน้อยเพื่อไม่ให้ไฟลุกลามบานปลาย ถังดับเพลิงภายในบรรจุด้วยแรงดัน ประกอบด้วยน้ำหรือสารเคมีเพื่อใช้ดับไฟโดยเฉพาะ ภายนอกเป็นถังมีสายฉีด สลักนิรภัย มือจับไกแบบเปิด/ปิด แต่ถังดับเพลิงที่ใช้ในปัจจุบันออกแบบหลายประเภท ให้ตรงต่อการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับชนิดของสารดับเพลิงที่บรรจุภายในถัง เช่น เคมีน้ำ เคมีแห้ง โฟม คาร์บอนไดออกไซด์ ที่ระบุชนิดไว้นอกถัง ว่าถังดับเพลิงชนิดใดเหมาะกับการดับไฟสถานที่ใดบ้าง
แยกประเภทถังดับเพลิง
ประเภท A (Ordinary Combustibles)
ใช้ดับเพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงธรรมดาที่ติดไฟง่าย เช่น ไม้ ยาง พลาสติก ผ้า กระดาษ ขยะ เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงที่พบได้ทั่วไปตามที่อยู่อาศัย และสามารถดับเพลิงได้ด้วยน้ำเปล่า
ประเภท B (Flammable Liquids)
ใช้ดับเพลิงไหม้ของเหลวหรือก๊าซติดไฟง่าย เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันดิบ น้ำมันก๊าซ น้ำมันเบนซิน ก๊าซหุงต้ม น้ำมันหล่อลื่น จำพวก ทินเนอร์ จาระบี เชื้อเพลิงเหล่านี้พบได้ในสถานที่อุตสาหกรรมที่ผลิตเชื้อเพลิง หากเกิดไฟไหม้จะลุกลามได้นาน ไม่สามารถใช้น้ำเปล่าดับได้ต้องดับด้วยออกซิเจน
ประเภท C (Electrical Equipment)
ใช้ดับเพลิงไหม้ที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพราะกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก เช่น มอเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า สายไฟฟ้า กรณีนี้มักเกิดจากที่มีความร้อนสะสมนาน หรือเกิดจากวัสดุเสียหายชำรุดจนก่อให้เกิดเพลิงไหม้ การดับไฟที่เกี่ยวกับไฟฟ้าห้ามใช้น้ำหรือของเหลว เพราะจะทำให้วัสดุใกล้เคียงเสียหายได้ ต้องใช้สารเคมีแห้งที่ไม่ทิ้งคราบเกาะหลังดับไฟแล้ว
ประเภท D (Combustible Metals)
ใช้ดับเพลิงไหม้ที่เกิดจากโลหะบางชนิดที่ติดไฟได้ง่าย เช่น ไทเทเนียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม อลูมิเนียม เป็นต้น โลหะเหล่านี้พบได้ในห้องปฏิบัติการทดลอง หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้โลหะสร้างวัสดุ เชื้อเพลิงเหล่านี้ไม่สามารถดับด้วยน้ำเปล่า ต้องดับด้วยสารเคมีเท่านั้น
ประเภท K (Combustible Cooking)
ใช้ดับเพลิงไหม้ที่เกิดจากการใช้น้ำมันประกอบอาหาร น้ำมันจากไขมันสัตว์ หรือของเหลวบางชนิดที่ใช้ประกอบอาหาร พบได้ในห้องครัวหรือร้านอาหาร เชื้อเพลิงประเภทนี้ค่อนข้างหนืด ดับด้วยน้ำเปล่าเป็นเรื่องยาก
หมายเหตุ วิธีการแยกประเภทถังดับเพลิง
ดูที่ตัวอักษรย่อที่ระบุไว้เป็นตัวย่อ ดูสีตามที่แบ่ง และง่ายที่สุดคือดูภาพประกอบข้างตัวอักษร ซึ่งแต่ละภาพเป็นภาพวัตถุต้นเหตุเพลิงไหม้
ถังดับเพลิงต้องใช้ให้ถูกประเภท
หากจะใช้ถังดับเพลิงต้องใช้ให้เหมาะกับสถานที่ ซึ่งภายในถังดับเพลิงบรรจุสารเคมีแตกต่างกัน การใช้งานดับเพลิงจึงใช้ให้เหมาะกับชนิดเชื้อเพลิงภายในบริเวณดังกล่าว
- ถังดับเพลิงชนิดผงหรือเคมีแห้ง (Dry Chemical Extinguishers)
เป็นถังดับเพลิงสีแดง ดับไฟได้เกือบทุกประเภท เช่น A,B,C ยกเว้น K ภายในถังนี้บรรจุผลเคมีแห้งและก๊าซไนโตรเจนที่ช่วยระงับปฏิกิริยาเคมีการเกิดเพลิงไหม้ได้ ช่วยขัดขวางการลุกไหม้ของเชื้อเพลิงเมื่อเจอกับออกซิเจน เมื่อฉีดออกมาจะเป็นฝุ่นละอองสีขาวคล้ายแป้งฝุ่น ทิ้งคราบเปื้อนไว้เมื่อดับเพลิงสำเร็จ จึงถือเป็นข้อด้อยที่ไม่นิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ห้องปฏิบัติการการทดลอง แต่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับถังประเภทอื่น ๆ จึงมักใช้ในอาคาร บ้าน เมื่อใช้แล้วไม่ว่าผงเคมีแห้งภายในจะใช้หมดหรือไม่ก็ตาม แรงดันภายในถังจะตกลง ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก ต้องส่งบรรจุใหม่ อายุการใช้งาน 5-10 ปี
- ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีสูตรน้ำ (Halotron)
เป็นถังดับเพลิงสีเขียว ดับไฟได้เกือบทุกประเภท A,B,C และ K ภายในถังบรรจุสารเคมีเหลวที่มีความเย็นจัด เมื่อฉีดพ่นจะออกมาเป็นไอระเหย โดยไม่ทิ้งคราบสกปรกไว้ภายหลัง ช่วยกำจัดความร้อนและขัดขวางการเผาไหม้ออกซิเจน เป็นสารเคมีที่ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เหมาะกับการนำไปใช้ในห้องคอมพิวเตอร์ โรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ แม้แต่เรือ เครื่องบิน รถไฟ มีราคาสูง
- ถังดับเพลิงชนิดบรรจุโฟม (Foam Extinguishers)
ถังดับเพลิงสีเทา ภายในบรรจุโฟมเมื่อฉีดออกมาจะเป็นฟองโฟมกระจายปกคลุมเพลิงไหม้ ทำให้ไฟไหม้ดับสนิทได้ทันทีเพราะไฟขาดออกซิเจน ถังชนิดนี้ยังมีคุณสมบัติช่วยปกปิดพื้นผิวที่มีของเหลวอย่างน้ำมัน จึงใช้ได้กับไฟประเภท A,B แต่ไม่สามารถใช้ดับเพลิงไฟประเภท C ที่เป็นตัวนำเชื้อเพลิงประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้า เพราะโฟมมีส่วนประกอบของน้ำซึ่งเป็นอันตรายต่อบริเวณไฟฟ้าไหลผ่าน ถังดับเพลิงนี้จึงเหมาะกับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สารระเหยติดไฟ ทินเนอร์ ที่พักอาศัย ปั๊มน้ำมัน
- ถังชนิดบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide (CO2) Extinguishers)
เป็นถังดับเพลิงสีแดง ปลายกระบอกฉีดใหญ่เป็นพิเศษ เมื่อฉีดออกมาจะเป็นไอเย็นจัด คล้ายน้ำแข็งแห้ง (Dry Ice) ทำให้ดับไฟได้ทันทีและลดความร้อนได้รวดเร็ว ไม่ทิ้งคราบสกปรกภายหลัง ใช้ดับเพลิงได้ทั้งประเภท B,C เหมาะกับห้องที่มีเครื่องจักรกล โรงงานอุตสาหกรรม
- ถังดับเพลิงชนิดน้ำ (Water Extinguishers)
เป็นถังดับเพลิงที่บรรจุน้ำธรรมดาและก๊าซ ใช้กับเพลิงไหม้ประเภท A มากที่สุด จำพวกวัสดุของแข็ง วัสดุติดไฟง่าย เช่น ไม้ กระดาษ ผ้า พลาสติก ช่วยลดอุณหภูมิความร้อนได้อย่างดี เหมาะสำหรับใช้ดับเพลิงในบ้านที่อยู่อาศัย
การเลือกถังดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพต้องดูมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. ด้วย โดยหมายเลขที่ได้รับมาตรฐานในปัจจุบันคือ มอก. 332-2537 ซึ่งเป็นมาตรฐานปรับปรุงที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ต้องเลือกใช้ประเภทถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับแต่ละสถานที่ด้วย เพื่อใช้งานได้อย่างถูกต้อง และควบคุมเพลิงไหม้ได้ทันท่วงที จากทั้งหมดจึงเห็นว่าถังดับเพลิงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยชีวิตคนอีกจำนวนมากหากเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ขึ้นแบบไม่คาดฝัน
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็ป https://nipponsafety.com/ https://thailandsafety.com/, https://teamsafetysales.com/, https://jorporsafety.com , https://safetyshopthailand.com
จำหน่ายอุปกรณ์เซฟตี้