มลพิษทางเสียง
การได้ยินเสียงต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องปกติของทุก ๆ คน แต่ปัญหาที่มักเกิดขึ้นจากเสียงที่ได้ยินจนก่อให้เกิดความรำคาญใจ ไม่สบายใจ สิ่งเหล่านี้ถูกเรียกว่ามลพิษทางเสียง เป็นอีกประเภทของสิ่งไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้นบนโลกของเรา คำ ๆ นี้คงเคยได้ยินกันมาบ่อยแต่ลองมาเจาะลึกกับเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับมลพิษทางเสียงที่มีเรื่องราวน่าสนใจมากกว่าแค่เสียงดัง เป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจอย่าปล่อยผ่านเลยไปเพราะมันอาจกระทบถึงชีวิตในทุก ๆ วันที่ดำเนินไปได้เลย
มลพิษทางเสียง คืออะไร
ลำดับแรกมารู้จักกับคำว่า มลพิษทางเสียง ให้เข้าใจกันแบบชัดเจนก่อน คำ ๆ นี้มี หมายถึง สภาพแวดล้อมโดยรอบไม่ว่าบริเวณใดก็ตามที่มีค่าเสียงเกินจากมาตรฐานที่ได้ถูกกำหนดเอาไว้โดยกรมควบคุมมลพิษจนทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ หงุดหงิดรำคาญ สร้างปัญหาให้กับทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ ก่อให้เกิดอาการตกใจจนถึงขั้นอาจส่งผลร้ายต่อสุขอนามัยของตัวบุคคลได้เลย เช่น เสียงดังเป็นเวลายาวนาน, เสียงที่ดังมากจนเกินไป สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยแวดล้อมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นคน, สัตว์, สิ่งของเครื่องจักร
แหล่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางเสียง
หากลองแยกออกมาจะพบว่ามีหลากหลายแหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงจนกลายเป็นความไม่สบายใจของผู้ที่อาศัยหรือต้องใช้ชีวิตในบริเวณดังกล่าวเป็นประจำ โดยแบ่งได้ดังนี้
- มลพิษทางเสียงประเภทอยู่กับที่ คือ การเกิดเสียงดังรบกวนจากปัจจัยที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้แต่ก่อให้เกิดความรำคาญใจ เช่น
– เครื่องขยายเสียงจากสถานที่ที่กำลังจัดงานรื่นเริง และสถานที่ทั่วไป เช่น เสียงเพลงออกจากลำโพง, การกระจายเสียงผ่านเสียงตามสาย เป็นต้น
– สถานประกอบการที่ต้องใช้เครื่องจักรชนิดต่าง ๆ อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม, บริษัทซ่อมหรือดัดแปลงสภาพต่าง ๆ เช่น อู่ซ่อมรถ ซึ่งรวมไปถึงสถานที่แสดงมหรสพ หรือแม้กระทั่งสวนสนุก, งานประจำปี ที่มีเสียงดังรบกวนมากเกินไปด้วย
– เสียงเครื่องมือกลที่ถูกนำไปใช้งานในด้านต่าง ๆ เช่น เครื่องเจาะถนนในงานก่อสร้าง, เครื่องตอกเสาเข็มในการสร้างบ้าน เป็นต้น
– เสียงที่เกิดขึ้นผ่านปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ฟ้าร้อง, ภูเขาถล่ม เป็นต้น
- มลพิษทางเสียงประเภทเคลื่อนที่ได้ คือ เสียงที่เกิดจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนได้ ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่เฉย ๆ เช่น
– เสียงจากยานพาหนะประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะทางบก, ทางน้ำ, ทางอากาศ อาทิ เสียงท่อรถยนต์, เสียงเครื่องบิน, เสียงเรือหางยาว ฯลฯ
– เสียงที่เกิดจากการขยายเสียงโดยมีพาหนะเคลื่อนที่ เช่น เสียงรถขายของ, เสียงตามสายของรถประกาศโฆษณาต่าง ๆ เป็นต้น
ผลกระทบโดยตรงเมื่อต้องพบเจอกับมลภาวะทางเสียง
- ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย แบ่งออกได้ 3 ประเภทคือ
– หูอื้อแบบชั่วคราว มาจากการอยู่ในพื้นที่มีระดับเสียงดังกว่า 80 เดซิเบล ในระยะเวลาสั้น ๆ
– หูอื้อถาวร การอยู่ในระดับเสียงดัง ๆ เป็นเวลานานมาก ๆ
– หูหนวกทันที เมื่อเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีระดับเสียงเกินกว่า 120 เดซิเบล
- ผลกระทบทางจิตใจ การได้ยินมลพิษทางเสียงเป็นประจำย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจทั้งทำให้เกิดความหงุดหงิด รำคาญใจ ไม่มีสมาธิในการทำงาน, นอนหลับพักผ่อนได้ไม่เต็มที่, ไม่สามารถคิดงานที่ต้องการได้ เป็นต้น
- ผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับร่างกาย การได้ยินเสียงดังมากเกินไปบ่อยครั้งจนกลายเป็นมลพิษทางเสียง มีโอกาสส่งผลกระทบทางอ้อมกับร่างกายได้หลายรูปแบบ เช่น ระบบการหมุนเวียนของเลือดผิดปกติ, ระบบประสาทมีปัญหา, เกิดอาการหดและบีบตัวที่บริเวณลำไส้ใหญ่, ส่งผลกระทบต่ออวัยวะสืบพันธุ์และต่อมไร้ท่อ
- ผลกระทบด้านอื่น ๆ อันเกิดจากมลพิษทางเสียง นอกจากที่กล่าวมาคือเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวบุคคลโดยตรงแล้ว มลพิษทางเสียงยังส่งผลต่ออีกหลาย ๆ ด้าน เช่น สิ่งแวดล้อม สัตว์ต่าง ๆ ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ในถิ่นฐานของตนเอง, สร้างผลเสียด้านมนุษยสัมพันธ์ อาทิ เมื่ออยู่ในที่เสียงดังก็ต้องพูดคุยกันเสียงดังอาจทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ เป็นต้น
แนวทางการป้องกันมลพิษทางเสียง
- มีการสร้างมาตรฐานหรือออกเป็นกฎระเบียบชัดเจนเกี่ยวกับระดับเสียงไม่ให้ดังจนเกินไปในพื้นที่สาธารณะ
- ผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงควรมีจิตสำนึกและพยายามป้องกันไม่ให้เสียงเล็ดลอดออกมามากจนเกินไป เช่น ใช้ผนังแบบเก็บเสียง, เลือกย้ายพื้นที่ไปในจุดที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนหรือผู้คนคับคั่ง, เปลี่ยนระบบการผลิตแบบไร้เสียงหรือทำให้มีเสียงน้อยที่สุด เป็นต้น
- ตัวบุคคลที่หลีกเลี่ยงการพบเจอมลพิษทางเสียงไม่ได้ก็ควรมีเครื่องป้องกัน เช่น ที่อุดหู เป็นต้น
- ทำความเข้าใจเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นและผลกระทบจากการสร้างมลพิษทางเสียงสำหรับผู้ที่ทำงานในด้านนี้โดยตรงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะของการร้องขอไปในตัว
- พยายามประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์ให้ทุก ๆ คนมีความรู้และอันตรายที่เกิดจากมลพิษทางเสียงให้มากขึ้นกว่าเดิม
เรื่องของมลพิษทางเสียงไม่ใช่เรื่องที่ควรปล่อยผ่านเลยไป จากรายละเอียดทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นเลยว่าสร้างผลกระทบในหลาย ๆ ด้านให้กับการใช้ชีวิตประจำวัน ทางผู้ที่ทำให้เกิดมลพิษทางเสียงเองก็ต้องรู้จักหน้าที่พร้อมความรับผิดชอบตนเองเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับผู้อื่น แค่ร่วมมือกันคนละนิดก็ทำให้ปัญหามลพิษทางเสียงลดลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็ป https://nipponsafety.com/ https://thailandsafety.com/, https://teamsafetysales.com/, https://jorporsafety.com/
ดูอุปกรณ์ป้องกันเสียงทั้งหมด