โทษของยาบ้า
ยาบ้า เม็ดยาเล็กกลม คล้ายยาทั่วไป แต่มีหลายสีสัน แต่พบมากที่สุดคือสีเขียวและสีส้ม เป็นสารเสพติดอันตรายที่มีส่วนประกอบหลักคือสารแอมเฟตามีน ที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เป็นกลุ่มยาที่นิยมมากในประเทศไทย ปัจจุบันการระบาดของยาบ้าอยู่ในวงกว้าง และมีแนวโน้มว่าปริมาณการเพิ่มขึ้นมีให้เห็นชัด ตั้งแต่กระบวนการผลิต ขนส่ง จำหน่าย จนถึงผู้เสพ โทษของยาบ้าเป็นสารเสพติดที่น่ากลัว หากใครเริ่มต้นเสพจะมีพฤติกรรมต้องการเสพยาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลต่อร่างกาย ระบบประสาท จนถึงขั้นทำร้ายผู้อื่นจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
ยาบ้าคืออะไร
ส่วนประกอบหลักของยาบ้า คือ สารแอมเฟตามีน มีการค้นพบมากว่า 100 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2453 แล้วถูกนำไปใช้ในทางการแพทย์ในปี พ.ศ.2475 โดยใช้เป็นยาพ่นหรือลดน้ำมูก รักษาอาการหอบหืด จนเปลี่ยนเป็นยาเม็ดใช้รักษาอาการโรคลมหลับ และโรคซึมเศร้า รวมถึงใช้กับเด็กที่มีอาการไฮเปอร์ ที่อยู่ไม่นิ่งควบคุมสติไม่ได้ แต่ถูกยกเลิกใช้ในทางแพทย์เพราะพบว่าแอมเฟตามีนมีลักษณะเป็นสารเสพติด
ในประเทศไทยเริ่มนำเข้าแอมเฟตามีนในปี พ.ศ.2510 ช่วงแรกเรียกว่า “ยาม้า” คาดว่ารูปตัวเม็ดยามีรูปหัวม้าอยู่ แต่ก็สันนิษฐานว่าอาจนำไปใช้ในม้าแข่งเพื่อให้ม้าวิ่งเร็วและอดทน จนกระทั่งในปี พ.ศ.2539 เปลี่ยนจากชื่อ “ยาม้า” เป็น “ยาบ้า” โดยนายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น เพื่อให้ผู้ใช้ยาตระหนักว่ายานี้ใช้แล้วเป็นบ้า ควบคุมสติไม่ได้ และเปลี่ยนอัตราโทษสารเสพติดยาบ้าจากประเภท 3 มาเป็นประเภทที่ 1 มีโทษสูงสุด
แต่ปัจจุบันพบว่ายาบ้าไม่ได้มีเพียงสารแอมเฟตามีนอย่างใด แต่ยังมีสารประเภทอื่นผสมด้วย เช่น แอมเฟตามีนซัลเฟต เมทแอมเฟตามีน และเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ ลักษณะการเสพคือรับประทาน หรือนำไปลนไฟแล้วสูดดม หรือฉีดเข้าเส้นเลือดบ้าง แต่ลักษณะหลังไม่เป็นที่นิยมในไทย
ยาบ้าเป็นยาเสพติดที่หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง เหตุผลที่เป็นที่นิยมมากเพราะเชื่อว่าเมื่อเสพเข้าไปแล้ว จะไม่ทำให้ง่วง มีกำลังทำงานได้หนักกว่าเดิม แต่ผลในระยะแรกเริ่มคือมักมีอาการอ่อนเพลีย สมองทำงานช้าผิดปกติ ใจสั่น หากเสพติดไปเรื่อย ๆ จะไม่สามารถควบคุมสติได้ ประสาทหลอน เห็นภาพหลอน คลุ้มคลั่ง อาระวาด จึงต้องเสพยาอยู่ตลอดเพื่อแก้อาการ หากเสพแล้วจะทำให้ครึกครื้น มีแรง ไม่ง่วง แต่ปากแห้งสังเกตได้จากคนที่ติดยามักเลียริมฝีปากบ่อย ๆ
ฤทธิ์ยาบ้า
สารแอมเฟตามีนในยาบ้าออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท กระตุ้นการทำงานของสื่อประสาทโดปามีนในสมอง เมื่อเสพยาบ้าเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดการตื่นตัว ไม่ง่วง ทำให้รู้สึกมีความสุข จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มทำงานหนักหรืออดนอน เช่น คนขับรถบรรทุก ยาบ้ามีผลต่ออวัยวะภายในร่างกายส่วนอื่น ๆ ได้ เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง บ้างก็รู้สึกเบื่ออาหาร
หากเสพยาบ้าไประยะหนึ่งร่างกายจะเริ่มดื้อยา จึงต้องเพิ่มขนาดยาเรื่อย ๆ หรือต้องเสพบ่อยขึ้น เพื่อเข้าไปกระตุ้นร่างกายให้ดีขึ้น แต่หลายคนที่เสพแล้วอยากหยุดใช้มักจะมีอาการตรงกันข้าม เช่น อารมณ์เปลี่ยนไป เศร้า เครียด ไม่มีความสุข เหนื่อย หัวใจสั่น อ่อนเพลีย ง่วงนอน จึงต้องกลับมาใช้ยาอีกต่อเนื่อง ผู้เสพจึงไม่สามารถหยุดยาได้ทันที
อาการผู้เสพติดยาบ้า
ผู้เสพติดยาบ้าเป็นเวลานานมักจะแสดงพฤติกรรมอย่างเห็นได้ชัด ร่างกายผิดปกติไปจากเดิม อาการที่แสดงออกมาสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ จากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น
- ร่างกายผอมซูบ แขนขาลีบเล็กลง ใบหน้าคล้ำ ขอบตาดำ
- รู้สึกกระสับกระส่ายอยู่ตลอดเวลา อยู่ไม่นิ่งต้องรื้นค้นสิ่งของ
- แขนขาสั่น ลองให้ยื่นแขนเหยียดตรงจะสั่นจนผิดปกติ
- กลิ่นตัวแรง ลมหายใจเหม็น ไม่อยากเข้าใกล้
- มีอาการไม่อยากอาหารติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ส่วนคนที่เสพติดเป็นเวลานานๆมักแสดงอาการภาพหลอน หูแว่ว คลุ้มคลั่ง อาระวาด หวาดระแวงกลัวคนอื่นจะเข้ามาทำร้ายจึงต้องทำร้ายผู้อื่นก่อน คนใกล้ชิดต้องระวังอย่างมาก หากเสพยาในปริมาณมากจะกดประสาทและระบบหายใจ อาจหมดสติถึงแก่ชีวิตได้
- อาการเสพติดขั้นรุนแรงไม่สามารถเลิกได้ทันที ต้องทำการรักษาบำบัดทีละนิดตามขั้นตอน เพราะการเลิกยาในทันทีจะส่งผลทำให้พฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว อาระวาด ควบคุมสติไม่ได้
โทษของยาบ้าตามกฎหมาย
ตามกฎหมายประเทศไทย ยาบ้าถือเป็นโทษด้านอาชญากรรมที่ทำลายความมั่นคงของประเทศ และทุกกรณีจะมีบทลงโทษรุนแรง ไม่มีการรอลงอาญา โทษของยาบ้าแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
ผลิต นำเข้า
ผู้ผลิตหรือนำเข้ายาบ้าต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ถ้าหากมียาบ้าเกิน 20 กรัมถือว่าผลิตเพื่อจำหน่าย ต้องได้รับโทษประหารชีวิต
ครอบครองเพื่อจำหน่าย
โทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึงตลอดชีวิต แต่หากเกิน 100 กรัมขึ้นไปมีโทษถึงประหารชีวิต
ครอบครอง (อย่างเดียว)
การพบว่ามียาบ้าไว้ในครอบครองไม่เกิน 20 กรัมต้องได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี แต่หากเกิน 20 กรัมขึ้นไป จะเปลี่ยนเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย อาจต้องได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต
เสพ
เสพ ผู้เสพยาเสพติดต้องได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี โทษปรับสูงสุด 1 แสนบาท แต่ทั้งนี้ผู้เสพยาเสพติดถือว่าเป็นผู้ป่วย ต้องได้รับการบำบัดรักษา เพื่อให้หายขาดจากการเสพติดเป็นเวลา 3 เดือนระหว่างการรับโทษ
โทษของยาบ้าเป็นโทษรุนแรงมาก มีผลร้ายต่อตัวเอง คนรอบข้าง ตลอดถึงประเทศชาติ ทำลายความมั่นคงและเศรษฐกิจภายในชาติ การรับรู้และเข้าใจโทษของยาบ้าจึงจำเป็นที่สุด และที่สำคัญต้องสอนให้คนใกล้ชิดอย่ายุ่งเกี่ยวและอย่าิเข้าใกล้โดยเด็ดขาด
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็ป https://nipponsafety.com/ https://thailandsafety.com/, https://teamsafetysales.com/, https://jorporsafety.com , https://safetyshopthailand.com
จำหน่ายอุปกรณ์เซฟตี้